เรียนพระคัมภีร์กับพี่ซัน

สรุปเรื่อง “ภาษาแปลกๆ”

2017-10-06

ภาษาแปลกๆ มาจากไหน ตกลงคือ ภาษาอะไรกันแน่
ผิดไหมที่ฉันพูดไม่ได้?
อยากรู้ เลื่อนนิ้วโลดดดด

Highlights

- ภาษาแปลกๆ เพิ่งกลับมาฮิตเมื่อ 100 กว่าปีก่อน
- มีความเชื่อที่ว่า คริสเตียนที่พูดภาษาแปลกๆ ไม่ได้ = ยังไม่บังเกิดใหม่

- ในวงการคริสเตียน ภาษาแปลกๆ คือหนึ่งในเรื่องที่คนมักสับสน และเห็นต่างกันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

- บอกไว้ก่อนว่า พี่ซันเป็นคริสเตียนที่โตมาในสายเพรสไบทีเรียน (ไม่ได้เน้นภาษาแปลกๆ) บทความนี้จึงอาจมีความเอนเอียงบ้าง แต่จะพยายามเขียนให้เป็นกลางที่สุดครับ :)
.
.
.
- คืองี้ จุดเริ่มต้นของ “ภาษาแปลกๆ” มีให้พบเห็นตั้งแต่ในสมัยพระคัมภีร์แล้วแหละ แต่ปรากฎว่าช่วงกลางประวัติศาสตร์กลับเงียบหาย ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าไหร่

- จนเริ่มมีการรื้อฟื้นจริงๆ จังๆ ช่วงปี 1906 ตอนที่ William Seymour ไปเทศนาในงานฟื้นฟู Azusa Street แล้วเห็นไฟบนหัวคน (ที่ไม่ใช่ไฟไหม้) จนเกิดการฟื้นฟูใหญ่ การอัศจรรย์ และภาษาแปลกๆ #นี่คือจุดเริ่มต้นกลุ่มเพนเทคอส

- หลังจากนั้นก็เริ่มมีหลายๆ คนพูดภาษาแปลกๆ ได้ ถึงขนาดไปประกาศในต่างแดนที่ไม่รู้ภาษาก็ยังได้

- ทำให้เกิดคำสอนที่เรียกว่า “Initial evidence” แปลว่า คุณต้องพูดภาษาแปลกๆ ได้ ถ้าคุณรับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้ว

- ซึ่งมาจากพระคัมภีร์บางตอน เช่น พระวิญญาณเสด็จลงมา ตอนเปโตรเทศนา และคนก็พูดภาษาแปลกๆ ซึ่งภายหลังเปโตรบรรยายว่ามันคือ การรับบัพติสมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กจ. 10:44-46, 11:15)

- อีกทั้งยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีก เช่น ในกิจการ (กจ. 2:4, 19:6) หรือพระเยซูก็พูดถึงภาษาแปลกๆ (มก. 16:17) หรือคำพยากรณ์ของโยเอล (ยอล. 2:28-29) เป็นต้น
.
.
.
- ทีนี้ เราลองมาดูลักษณะ “ภาษาแปลกๆ” จากพระคัมภีร์กันหน่อยดีกว่า พี่ซันขอสรุปง่ายๆ 3 ข้อนี้

1. ภาษาอะไร?
อาจเป็นทั้งภาษามนุษย์หรือภาษาทูตสวรรค์ก็ได้ (1 คร. 13:1) นั่นคือ มันอาจจะไม่ใช่ภาษาใดในโลกนี้เลย เป็นเพียงภาษาอันลี้ลับที่บนสวรรค์เขาพูดกัน

2. มีไว้ทำอะไร?
มี 3 หน้าที่ ดังนี้
2.1) อธิษฐานส่วนตัว ไม่ต้องแปล (1 คร. 14:2)
2.2) เสริมสร้างคนอื่นในโบสถ์ (1 คร. 14:6-12) -> โดยควรจะมีคนแปลและไม่วุ่นวาย
2.3) ประกาศข่าวประเสริฐกับคนต่างชาติ (กจ. 2:7-12) -> เพื่อให้ภารกิจใน กจ. 1:8 สำเร็จ

3. จำเป็นต้องพูดได้ทุกคนไหม?
มันเป็น “ของประทานฝ่ายวิญญาณ” ชนิดหนึ่งเท่านั้น แปลว่าไม่จำเป็นที่คริสเตียนทุกคนจะต้องพูดได้ (1 คร. 12:10-11, 30)
.
.
.
- ดังนั้น ส่วนตัวพี่ซัน “ไม่เห็นด้วย” กับบางจุดของ Initial evidence, พฤติกรรมบังคับให้ผู้เชื่อทุกคนต้องฝึกพูดภาษาแปลกๆให้ได้, การโจมตีคนที่พูดภาษาแปลกๆไม่ได้ว่ายังไม่รอด

- เพราะการพูดภาษาแปลกๆเป็นของประทานอย่างหนึ่ง (บางคนอาจมี หรือบางคนอาจไม่มี) และเราไม่ได้รอดด้วยการต้องพูดภาษาแปลกๆให้ได้ แต่รอดโดยพระคุณของพระเจ้าครับ

- นอกจากนี้ ภาษาแปลกๆ ยังมีประเด็นให้ถกเถียงกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาษาแปลกๆ ควรจะจบสิ้นไปแล้วหรือเปล่า? (1 คร. 13:9-10) หรือ ทุกวันนี้ที่โบสถ์พูดภาษาแปลกๆ กันตรงกับจุดประสงค์ตั้งต้นหรือไม่ (1 คร. 14)

- พี่ซันเชียร์ให้น้องคนไหนที่สนใจ ลองอ่าน 1 คร. 12-14 ดูนะครับ เพราะเปาโลเขียนเรื่องภาษาแปลกๆ ไว้อย่างเยอะ

- อย่างไรก็ดี ถ้าน้องได้พูดคุยกับเพื่อนจากสายเพนเทคอสหรือคาริสเมติก ก็อาจจะทำให้เห็นมุมมองอื่นๆเพื่อความเข้าใจมากขึ้นครับ :) เพราะจริงๆแล้ว ภาษาแปลกๆก็สามารถเป็นประโยชน์ที่ช่วยเสริมสร้างชีวิตส่วนตัวและคริสตจักรได้ดี

สรุป

- ภาษาแปลกๆ เพิ่งถูกรื้อฟื้นกลับมาประมาณ 100 ปี
- 3 ลักษณะของภาษาแปลกๆ
1. อาจเป็นภาษามนุษย์หรือภาษาทูตสวรรค์
2. มี 3 หน้าที่ (อธิษฐานส่วนตัว, เสริมสร้างคนอื่น, ประกาศข่าวประเสริฐ)
3. เป็นเพียง “ของประทานฝ่ายวิญญาณ” ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคนต้องพูดได้
- คริสเตียนรอดโดยพระคุณของพระเจ้า (รอดโดยความเชื่อ ไม่ใช่การพูดภาษาแปลกๆ)
- ภาษาแปลกๆ ยังมีประเด็นให้ถกเถียงกันอีกมาก

References

1.
http://www.christianitytoday.com/ct/2000/march6/32.84.html

2.
https://www.gotquestions.org/gift-of-tongues.html

3.
https://bible.org/article/speaking-tongues

4.
https://en.wikipedia.org/wiki/Glossolalia#History