เรียนพระคัมภีร์กับพี่ซัน

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการปฏิเสธของเปโตร

2017-04-13

ทำไมเปโตรปฏิเสธพระเยซู?
มาฟังคำตอบจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ถ้าอยากรู้ ว่ามันเกี่ยวกันยังไง?
เลื่อนลงยาวๆเลยครัช

Highlights

- แค่เข้าใจว่าทำไมเปโตรปฏิเสธพระเยซู ก็อาจช่วยให้น้องเฝ้าเดี่ยวทุกวันได้
- ทำไมแค่วางนาฬิกาปลุกไกลตัว ก็ช่วยให้น้องตื่นตรงเวลาได้

- คืองี้ พรุ่งนี้จะเป็นวันศุกร์ประเสริฐ (พระเยซูถูกตรึงกางเขน) ดังนั้น ตามลำดับเหตุการณ์ในพระคัมภีร์แล้วเนี่ย คืนนี้ต้องเป็นมื้ออาหารสุดท้ายของพระเยซูแอนเดอะแกงค์ (Last supper)

- คนที่พี่ซันอยากให้โฟกัส คือ “เปโตร” ครับ ถ้าจะสรุปเรื่องย่อๆในคืน Last supper ก็คงได้ประมาณนี้

1. เปโตรสัญญาว่า จะติดตามพระเยซูจนตัวตาย (มธ. 26:33-35)

2. พระเยซูเตือนเปโตรว่า จงเฝ้าระวังเพื่อจะไม่ตกอยู่ในการทดลอง จิตวิญญาณพร้อม แต่กายยังอ่อนกำลัง (มธ. 26:41)

3. เปโตรปฏิเสธพระเยซู 3 ครั้ง (มธ. 26:69-75)

- เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น จะว่าไป เรื่องทั้งหมดนี่มันแปลกประหลาดสิ้นดี!!

- ทำไมเปโตร ผู้มีความตั้งใจดีว่าจะสู้จนตัวตาย แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง ก็ไม่ทำสิ่งที่ตัวเองพูดซะแล้ว #อ้าวเห้ย #ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นิหว่า

- น้องๆเคยเป็นแบบนี้ป่ะครับ? สัญญากับพระเจ้าดิบดีในค่ายฟื้นฟู ว่าจะเฝ้าเดี่ยวทุกวัน แต่ผ่านไปไม่กี่วัน ก็ไม่ทำซะแล้ว #แปลกประหลาดจริงๆ

- การที่คนไม่ยอมทำตามสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี วิชาที่ศึกษาเรื่องพวกนี้เรียกว่า “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” ครับ

- และเรื่องการปฏิเสธของเปโตร สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ด้วยแนวคิด “hot-cold empathy gap”
.
.
.
.

- นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเชื่อว่า มนุษย์เราไม่ได้ทำตามสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีเสมอไปหรอก แค่ปรับสภาพแวดล้อมนิดหน่อย มนุษย์ก็สามารถทำอะไรโง่ๆได้แล้ว

- อย่างในกรณีของเปโตร สภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ในบ้านกับพระเยซู เป็น “ภาวะชิล (Cold state)” แต่เมื่อย้ายสภาพแวดล้อมไปเป็น “กลางดงตรีน” ของชาวบ้าน มันจึงเป็น “ภาวะเดือด (Hot state)” ขึ้นมาทันที

- ตามทฤษฎีแล้วเนี่ย มนุษย์เรามักคาดเดาไม่ค่อยได้ว่า เมื่อเราอยู่ในภาวะเดือดตัวเองจะเป็นยังไง ทำให้เรามักดูถูกช่องว่างนี้กว่าที่ควรจะเป็น

- ยกตัวอย่างเช่น ในค่ายฟื้นฟู น้องตั้งใจจะเฝ้าเดี่ยวทุกวัน [ภาวะชิล] แต่พอกลับบ้าน นอนดึก งานเยอะ สู้กับความง่วงไม่ไหว [ภาวะเดือด] จึงตัดสินใจนอนทั้งๆที่ยังไม่เฝ้าเดี่ยว (รู้ทั้งรู้ว่าเฝ้าเดี่ยวดี แต่ก็ไม่ทำ)

- แบบนี้แหละครับ คือการดูถูก hot cold empathy gap พูดง่ายๆคือ น้องไม่ได้เตรียมวิธีรับมือกับความง่วง

- เปโตรเองก็ไม่ได้เตรียมรับมือกับ hot cold empathy gap เช่นกัน แม้ว่าตอนอยู่ในบ้านกับพระเยซูจะสัญญาซะดิบดี [ภาวะชิล] แต่ในบรรยากาศที่โคตรน่ากลัว ท่ามกลางดงตรีนของชาวบ้าน [ภาวะเดือด] จึงตัดสินใจโกหก (รู้ทั้งรู้ว่า ติดตามพระเยซูดี แต่ก็ไม่ทำ)

- ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของเปโตรคือ พระเยซูเตือนเขาเรื่อง hot cold empathy gap แล้ว!! คือ พระเยซูบอกให้เปโตรระวังการทดลอง ความตั้งใจพร้อมแล้วก็จริง แต่กายฝ่ายโลกของเขายังอ่อนหัดนัก

- พูดในภาษาของพี่ซันเองก็คือ พระเยซูเตือนให้ระวัง hot cold empathy gap เพราะในสถานการณ์ที่ถูกทดลองมันอีกอารมณ์เลย #ความตั้งใจดี #ไม่เคยเพียงพอ

- น้องเองก็พลาดพลั้งเหมือนเปโตรได้ ถ้าติดกับดัก hot cold empathy gap นี้
.
.
.

- แต่ก็อย่าเพิ่งสิ้นหวังไป!! เพราะ hot cold empathy gap นั้นมีวิธีแก้อยู่ ทางออกที่เสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคือ “การวางระบบป้องกัน” ครับ

- ยกตัวอย่างเช่น

1. ถ้าน้องไม่สามารถตื่นได้ตรงกับเวลาที่ตั้งใจไว้ เพราะความง่วงในตอนเช้ามันหนักหน่วงนัก น้องก็อาจจะวางนาฬิกาปลุกไว้ไกลๆตัว เพื่อลากสังขารตัวเองให้ขยับตัวให้ได้ [อยู่ในภาวะเดือด]

2. ถ้าน้องไม่สามารถเฝ้าเดี่ยวได้ทุกวัน เพราะขาดวินัย น้องก็อาจจะตั้งกติกากับเพื่อนหรือแฟนว่า เราจะแชร์สิ่งที่ได้จากการเฝ้าเดี่ยวให้อีกคนอ่านทุกวัน ใครไม่แชร์ จ่าย 50 บาท!!

- ขอให้ความผิดพลาดของเปโตรในค่ำคืนนี้ เป็นบทเรียนให้น้องติดตามพระเยซูได้มากยิ่งขึ้นนะครับ :)

สรุป

- เปโตรปฏิเสธพระเยซูภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หลังจากสัญญาว่าจะติดตามจนตัวตาย
- วิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมศึกษาว่า ทำไมคนเราไม่ทำตามสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี
- เปโตรดูถูก hot cold empathy gap แม้ว่าพระเยซูจะเตือนเขาแล้วก็ตาม
- วิธีการแก้ไขคือ น้องต้องวาง “ระบบป้องกัน”

References

Hot-cold empathy gap คือ?
http://www.eoht.info/page/Hot-cold+empathy+gap

อ่านแบบง่ายๆ
http://thaipublica.org/2015/03/nattavudh-11/